ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่เบ่งบานขึ้นทั่วประเทศ ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดินทำกิน เพื่อกระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และเพื่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการตัดสินใจต่างๆ ด้านการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต อันเป็นเหตุสืบเนื่องจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ซึ่งนำไปสู่กาลอวสานของหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
“วันนี้ เราจะมาเผยความลับของการขยายพันธุ์กบ” เสียงหนึ่งดังขึ้นท่ามกลางสายตานับร้อยของชาวบ้านที่จับจ้องมายังเจ้าของเสียง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษคนหนึ่งกำลังบรรยายและสาธิตการเลี้ยงปู กบ หอยขม และวิธีการทำปุ๋ย ให้แก่ประชาชนในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
“ฉันเคยลองเลี้ยงกบมาก่อนหน้านี้ แต่พวกมันตายหมด ก็เลยมาที่นี่เพื่อพัฒนาตัวเอง” ‘ใจ’ พนักงานจากองค์กรเยาวชนแห่งหนึ่งกล่าวขณะจดบันทึกความรู้จากการบรรยายในวันนี้อย่างกระตือรือร้น
“งบขององค์กรพัฒนาเอกชนในเมืองไทยลดลงมากนับตั้งแต่การรัฐประหารใน พ.ศ.2557 แถมสถานการณ์ทุกอย่างก็เลวร้ายหนักขึ้นไปอีกเมื่อเกิดโรคโควิด-19 สิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่และทำให้เรารอดได้ คือ เปลี่ยนแปลงที่ดินทำกิน และผลิตอาหารกินเองบนที่ดินของเรา” ใจกล่าว
ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากโรคระบาดส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ แต่การล่มสลายของชุมชนริมน้ำใน อ.ราษีไศล เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 3 ทศวรรษ ใน พ.ศ.2537 กำแพงคอนกรีตสูง 17 เมตรที่ตั้งตระหง่านกลางแม่น้ำมูลสร้างความตื่นตะลึงให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งอย่างมาก เพราะพื้นที่แห่งนี้ คือ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทุ่งหญ้าตามธรรมชาติที่แปรสภาพเป็นหนองน้ำในฤดูฝน มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการไหลของกระแสน้ำในแม่น้ำ และเมื่อน้ำลดก็แปรเปลี่ยนกลับมาเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์
ชาวบ้านร่วมงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่สมาคมคนทามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ชุมชนระดมทุนผ่านการบริจาคข้าวทุกปี เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม (ที่มา: Luke Duggleby)
อุบล อยู่หว้า ร่วมงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่สมาคมคนทามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ที่มา: Luke Duggleby)
ข้าวเปลือกที่ได้รับบริจาคในงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่สมาคมคนทามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ที่มา: Luke Duggleby)
อุบล อยู่หว้า ที่ปรึกษาอาสาสมัครประจำศูนย์เรียนรู้ราษีไศล ผู้ติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า “คนที่ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไม่รู้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าเชิงระบบนิเวศน์เทียบเท่ากับป่าไม้และป่าชายเลน ไม่รู้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำแบบนี้ก็มีในภาคอีสาน ไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ต้นไม้ใหญ่เท่านั้นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ชุ่มน้ำก็ด้วย ดังนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำจึงไม่ควรถูกลดคุณค่าหรือถูกทำลาย”
เมื่อ พ.ศ.2541 ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาแรมซาร์ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุรักษ์และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญเชิงระบบนิเวศน์ มีคุณค่าด้านวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงมีคุณค่าด้านจิตใจแก่ผู้คนที่อาศัยรอบๆ พื้นที่ หลายประเทศจึงจับมือกันร่างอนุสัญญานี้ขึ้น ในประเทศไทย มีพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด 15 แห่ง ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาแรมซาร์ แต่น่าเสียดายที่ความเข้าใจและนิยามของคำว่า ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ตามอนุสัญญานี้เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล จึงกล่าวได้ว่าคงสายไปที่จะหยุดยั้งการแทรกแซงวิถีธรรมชาติของชีวิตคนริมน้ำมูล
การก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ซึ่งเป็นเส้นทางที่น้ำไหลผ่านกว่า 100,000 ไร่ ส่งผลให้วิถีชีวิต เช่น การทำประมงพื้นบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ ที่สืบทอดกันมานานกว่า 3 ศตวรรษของคนริมน้ำมูลตอนล่างถึงคราวอวสานในทันที
ไรวรรณ อนันต์เอื้อ ชาว อ.ราษีไศล วัย 48 ปี นึกย้อนถึงวันวานในวัยเยาว์ที่เรียบง่ายและมีความสุขก่อนสร้างเขื่อน สมัยที่คนจากหมู่บ้านสิบกว่าแห่งร่วมกันใช้และแบ่งปันทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์รอบๆ พื้นที่แห่งนี้
“เราปลูกข้าว ถั่ว แตงกวา และมันบนพื้นที่นี้ได้ตลอดทั้งปี ในน้ำก็มีปลาดุก มีหอยขมให้จับกิน เข้าป่าก็หาเก็บน้ำผึ้ง เก็บหน่อไม้ ขุดเห็ด ขุดพืชหัวกินได้ตลอด เลี้ยงวัวควายไว้ใช้แรงงาน เอาขี้วัวขี้ควายมาทำปุ๋ย เก็บไม้มาทำฟืน เก็บปอมาทำเชือก ที่นี่คือห้องครัวและร้านยาจากธรรมชาติ คือที่ที่ชาวบ้านอย่างเราๆ พึ่งพาตัวเองได้ แต่แล้วชีวิตของเราก็ยากลำบากขึ้น ชีวิตของคนจากสองฝั่งมูลไม่มีวันมาบรรจบกันได้อีกแล้ว” ไรวรรณกล่าว
นวรัตน์ เสียงสนั่น หรือม็อบ นักวิจัยหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการประมง ผู้ขับรถพา ลอเร ซีเกล สำรวจเส้นทางรอบๆ พื้นที่ชุ่มน้ำเก่าแก่แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างจังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
“แทบไม่มีคนเข้าไปตรงนั้นอีกแล้ว” ม็อบชี้ให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างจากการสร้างเขื่อน “ตรงนั้นเลยกลายเป็นป่ารกร้างและอันตราย มีแต่วัชพืชและสัตว์ดุร้ายเต็มไปหมด ส่งผลให้ปลาในแหล่งน้ำลดจำนวนลง พอมีเขื่อน พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติก็กลายเป็นพื้นที่ใต้น้ำ ต้นไม้ใหญ่ก็เน่าตายและถูกตัดทิ้งหมด” ม็อบกล่าว
ทองอินทร์ นงรักษ์ ใช้กระบอกไม้ไผ่ดักจับปลา ทั้งนี้อุปกรณ์ดักจับปลาท้องถิ่นหลายประเภทใช้การไม่ได้อีกต่อไป เมื่อแม่น้ำกลายสภาพเป็นเขื่อน (ที่มา: Luke Duggleby)
ผา กองธรรม อายุ 69 ปี หนึ่งผู้นำขบวนการต่อสู้ด้านสิทธิชุมชนของคนลุ่มน้ำมูลมากว่า 30 ปี (ที่มา: Luke Duggleby)
สุนันท์ ผาชุม อายุ 53 ปี ระหว่างจับปลาท้ายเขื่อน ชุมชนที่เขาเคยอาศัยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล หลังที่ดินถูกน้ำท่วม เขาต้องลงทุนกว่า 6 หมื่นบาทเพื่อซื้อปลาและอุปกรณ์จับปลาที่ใช้ได้กับระดับน้ำลึก เขาไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะคืนทุนได้ (ที่มา: Luke Duggleby)
ช่วงปี 2532-2533 รัฐบาลไทยเริ่มต้นโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ 14 แห่งบริเวณแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแม่น้ำ 2 สายหลักที่ยาวที่สุดในภาคอีสาน ภายใต้ชื่อโครงการ “อีสานสีเขียว” โดยเขื่อนราษีไศลเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว เขื่อนในโครงการได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลก โดยมีจุดประสงค์ คือ เพื่อกักเก็บน้ำ ควบคุมการไหลของน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าว่าการสร้างเขื่อน 14 แห่งจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่นได้ แต่ อุบล ยืนยันว่า คำพูดสวยหรูจากรัฐล้วนแต่เป็นเรื่องลวงหลอก ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
“เรายืนยันได้เลยว่าเขื่อนทั้งหลายในโครงการนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ โครงการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลใช้เงินไปกว่า 870 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบในตอนแรกที่ตั้งไว้ถึง 5 เท่า ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษาอื่นๆ อีกนะ รัฐบอกว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินทำกิน 2,000 ล้านบาท แต่ยังจ่ายไม่ครบ จ่ายมาแค่ครึ่งเดียว” อุบลกล่าว
“มีเขื่อนแล้วก็จริง แต่ชาวบ้านทั้งหมดที่นี่กลับยังเจอปัญหาน้ำแล้ง น้ำไม่พอใช้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีตัวอย่างแบบนี้ให้เห็นทั่วประเทศ การที่ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่รัฐทำแล้วไม่ปรึกษา ไม่ขอความเห็นชาวบ้านในพื้นที่ก่อน” อุบลกล่าว
แม้การก่อสร้างจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่เขื่อนราษีไศลยังไม่ได้ติดตั้งระบบสูบและผันน้ำที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ทำการเกษตรในหน้าแล้งหรือระบายน้ำออกจากนาข้าวในช่วงฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ การปิดกั้นทางเดินน้ำปีละ 8 เดือน ทำให้ค่าความเค็มของน้ำเพิ่มขึ้นโดยรอบ สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวและพืชผลอื่นๆ ของประชาชน รวมถึงทำให้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคมีรสเค็ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อุดร สำไร ผู้ใหญ่บ้านหนองซำ อ.ราษีไศล บอกว่า ปัญหาดังกล่าวทำลายระบบสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งตนพยายามร้องขอให้ภาครัฐช่วยแก้ไขมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่เขื่อนสร้างเสร็จก็เกิดปัญหาน้ำแล้งในช่วงฤดูน้ำหลาก เจอน้ำท่วมฉับพลันบ่อยขึ้น แถมน้ำยังหลากเข้าไปในตัวอำเภอ ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนวิถีทำการเกษตรมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน
“นาข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำแถบนี้เสียหายเพราะน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากเขื่อนเปิดประตูระบายน้ำโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ชาวบ้านเลยต้องเสียข้าวในนาทิ้งไปโดยไม่ได้อะไร แถมที่ดินของตัวเองยังจมน้ำ ใช้การไม่ได้อยู่ครึ่งปี ก่อนสร้างเขื่อน เราเคยปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง ทั้งในนาที่ลุ่มและนาที่ดอน แต่ตอนนี้เราปลูกข้าวได้แค่ปีละครั้ง และปลูกแค่ในที่ดอน ซึ่งต้องเสียเงินค่าสูบน้ำเพิ่มอีก เพื่อผันน้ำขึ้นไปใช้ปลูกข้าว” อุดรกล่าว
ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกินของประชาชนใน อ.ราษีไศล รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ชาลี วงศ์หงษ์คำ ที่มีเรือไม้เป็นทรัพย์สินชิ้นสุดท้าย ทุกๆ เช้า เขาและสุพิน ดวงดี ผู้เป็นภรรยา จะพากันล่องเรือแหวกพงไม้ที่เต็มไปด้วยยุงและงูเพื่อจับปลาหาอาหาร โดยทิ้งให้ลูกสาว 2 คนอยู่บ้านกับย่าซึ่งอายุมากแล้ว
“เราต้องเข้าไปตกปลาและหาเก็บผักแถวๆ หนองน้ำอยู่ตลอด แต่ก่อนใช้เวลาแค่ 20 นาที ตอนนี้ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง เพราะต้องฝ่าดงวัชพืช” ชาลีกล่าว
ครอบครัวงวงศ์หงษ์คำมีรายได้ประทังชีวิตจากการล่องเรือหาปลาและเก็บผักขาย ได้เงินวันละ 70-350 บาท และมีรายได้เพิ่มเติมจากการช่วยขายของในร้านค้าชุมชนอีกเดือนละ 5,000 บาท ชาลี ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว เผยว่า เขามีความฝันอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ต้องใช้เงินอย่างน้อย 300,000 บาท ซึ่งเขาคงไม่มีทางหาเงินจำนวนมากขนาดนั้นได้ นอกจากต้องไปกู้หนี้ยืมสิน และเขารู้ดีว่าอีกไม่นาน ลูกสาวทั้ง 2 ก็ต้องจากบ้านเข้าไปทำงานในเมือง
ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณเขื่อนราษีไศลต้องเจอคลื่นแห่งความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า เริ่มจากสูญเสียที่ดินซึ่งใช้ทำกินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เจอปัญหาการจัดการน้ำล้มเหลว สูญเสียรายได้ และต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานที่อื่น เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ประชากรในเขตชนบทของภาคอีสานหลั่งไหลออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปทำมาหากินตามเมืองใหญ่ ทำให้พื้นที่เหล่านี้ขาดแคลนวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น
“รัฐบาลสัญญาว่าต่อจากนี้ ถ้ามีเขื่อน ชาวบ้านก็ไม่ต้องย้ายเข้าไปทำงานในเมืองเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ แต่พอมีเขื่อน ลูกหลานเราก็ยังต้องกระเสือกกระสนเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ จนตาย เราไม่เคยอยากได้เขื่อนที่ไม่สร้างประโยชน์อะไรให้เรา เราต้องทนทุกข์เพื่อให้คนที่อนุมัติโครงการนี้มีกินมีใช้เหรอ แล้วชาวบ้านอย่างเราจะอยู่อย่างไร” อภิรัตน์ สุธาวรรณ ผู้ใหญ่บ้านเหล่าโดน หนึ่งในคนที่สูญเสียที่ดินทำกินระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจ
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ข้อบังคับที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องทำก่อนเริ่มต้นทำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ซึ่งมีนักวิชาการเคยพูดเตือนไว้ว่า นักการเมืองและผู้มีอิทธิพลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ความต้องการเพียงหนึ่งเดียวที่อยากให้โครงการเหล่านี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง
อุดร เล่ารายละเอียดเรื่องขุมนรกแห่งการทุจริตให้ฟังว่า “ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการฯ ไปจนถึงหัวหน้าหน่วยงานชั้นผู้น้อย ถ้าอยากมีตำแหน่งหรือมีหน้ามีตาในรัฐบาล นักการเมืองเหล่านี้ต้องลงทุนก้อนใหญ่ และเพื่อให้ได้เงินที่เสียไปคืนมา พวกเขาก็มาอนุมัติโครงการต่างๆ สร้างถนน สร้างเขื่อน จ่ายใต้โต๊ะให้ธนาคารและบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ญาติโกโหติกาของท่านทั้งหลายมีส่วนเอี่ยวอยู่”
ไรวรรณ บอกว่า ความจริงอันโหดร้ายนี้ถูกปรุงแต่งจนสวยหรูจนกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อผ่านบทเพลงในโทรทัศน์ “ตอนแรก พวกเขาบอกเราว่าจะสร้างเขื่อนยาง แต่พอเห็นรถขนอิฐขนปูนวิ่งเข้ามาในพื้นที่ ก็รู้เลยว่ามันต้องเป็นเขื่อนถาวรแน่ๆ ในตอนนั้น เรารู้ทันทีว่าจะต้องเสียบ้าน เสียที่ดินทำกิน และเราจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้”
หลังการสร้างเขื่อนราษีไศล ก็มีบริษัทขุดทรายเข้ามาขุดทรายใต้เขื่อนเพื่อจำหน่ายสำหรับกิจการก่อสร้าง ชาวบ้านจำนวนมากตั้งคำถามเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อกิจการขุดทรายรวมทั้งการใช้รถบรรทุกขนทรายวันแล้ววันเล่า (ที่มา: Luke Duggleby)
ทองใส จงรัตน์ อายุ 53 ปี ที่ดิน 6 ไร่ 1 งานของเธอจมอยู่ใต้เขื่อนราษีไศล โดนได้ค่าชดเชยเป็นมูลค่าครึ่งหนึ่งของที่ดิน เธอเข้าร่วมกับกลุ่มทวงค่าชดเชยหลังต้องสูญเสียที่ดินและวิถีชีวิตหลังการสร้างเขื่อน (ที่มา: Luke Duggleby)
หลังจากนั้น ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจากหลายหมู่บ้านใน อ.ราษีไศล ก็รวมตัวกันเพื่อประท้วงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งกินพื้นที่กว่า 900 กิโลเมตรตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำมูล โดยจัดประชุมลับในยามค่ำคืนเพื่อแบ่งปันข้อมูลและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับที่ดินของตน ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านใน อ.ปากมูล จ.อุบลราชธานี ก็รวมตัวกันยึดพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากมูล เพื่อประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในโครงการอีสานสีเขียว โดยเขื่อนปากมูลตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำมูลตอนล่างซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง การประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำมูลกลายเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ และถือเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มสมัชชาคนจน หรือเครือข่ายเรียกร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน รวมถึงการทำเหมืองแร่ และการเวนคืนที่ดิน ใน พ.ศ.2540 สมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนเดินทางเข้ามาปักหลักชุมนุมในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 99 วันที่หน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องการชดเชยที่เป็นธรรมจากรัฐ
วัฒนา นาคประดิษฐ์ อดีตเลขาธิการกลุ่มสมัชชาคนจน เผยว่า “ก่อนจะมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก นี่คือหนทางเดียวที่เสียงของชาวบ้านจะดังจนเป็นที่รับรู้ ถึงแม้ว่าเขื่อนจะถูกสร้างขึ้นในท้ายที่สุด แต่ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ว่าอย่ากลัวเจ้าหน้าที่ อย่ากลัวอำนาจรัฐ และต้องดำเนินการต่อสู้เรียกร้องจนได้รับการชดเชย แน่นอนว่า ชาวบ้านยังคงต้องปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเราคือการสร้างอำนาจต่อรองระหว่างประชาชนกับภาครัฐ”
“กรณีเขื่อนปากมูลมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้แก่แรงงาน เกษตรกร และชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ทำให้พวกเขารู้ว่าสู้ได้นะ สู้เพื่อสิทธิของตัวเองในชั้นศาล และมีสิทธิตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายที่ดินของภาครัฐ ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ต้องยอมรับว่าประชาชนทั่วประเทศเขาพร้อมลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และต้องพูดคุยเจรจากันด้วยความเท่าเทียม” วัฒนากล่าว
นับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว การลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐของนักเรียนนักศึกษาในกรุงเทพฯ ช่วยปลุกความคับแค้นที่ถูกกดทับให้คนทั่วประเทศ ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองหลวงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อีกด้านหนึ่ง ประชาชนทุกวัย ทุกภูมิหลัง ต่างตั้งตารอการเลือกตั้งผู้แทนของตนตามระบอบประชาธิปไตย โดยหวังว่าผู้แทนเหล่านั้นจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำ ทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้เสียที
ม็อบ นวรัตน์ ผู้เดินทางมาจาก อ.ราษีไศล เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เมื่อกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา บอกว่า “คนภาคอีสานมองเห็นปัญหาชัดเจนว่าถ้าไม่มีประชาธิปไตย บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด ประชาชนจะมาเจรจาต่อรองร้องขออะไรกับรัฐบาลทหารทีนี่ยากมากเลยนะ สิ่งที่เราต้องการคือการแสดงจุดยืนอย่างอิสระเสรี เพื่อตัดสินใจเรื่องบ้านเมืองของเรา”
ด้าน อภิรัตน์ ผู้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ทุกครั้งที่มีการประท้วงเรื่องเขื่อนราษีไศลเมื่อ 30 ปีก่อน บอกว่า “เราไม่ได้อยากจะอ้อนวอนร้องขอ แต่เราต้องการสิ่งที่เป็นของเรากลับคืนมา เราเคยถูกมองว่าเป็นตัวขัดขวางความเจริญในพื้นที่ และใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ มาขู่เราว่าจะจับเราขังคุกนะ ถ้าลุกขึ้นมาประท้วง”
“แล้วพวกเขาก็พยายามทำให้เขื่อนเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ ด้วยการเชิญเชื้อพระวงศ์มาเป็นประธานในพิธีเปิดใช้งานเขื่อน ชาวบ้านเลยไม่กล้าลุกขึ้นมาสู้อีก ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทหารกดขี่ชาวบ้านอย่างหนัก เราถูกคุกคามจนต้องยอมจำนน ผู้ใหญ่บ้านถูกจับ มิตรภาพขาดสะบั้น ครอบครัวก็แตกสลาย” อภิรัตน์กล่าว
ภาคอีสานมีประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ แต่กลับถูกละเลยจากรัฐบาลกลางมาตลอด ยกเว้นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังได้รับงบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ไม่ถึง 5% ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มาจากผลการเลือกตั้งอันไม่เป็นธรรมใน พ.ศ.2562 พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยที่ครองใจพี่น้องชาวอีสานยังถูกยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองซ้ำไปอีก
“นี่คือข้อจำกัดของรัฐบาลไทย พวกเขาไม่เคยเชื่อว่าคนบ้านนอกในภาคอีสานก็เป็นคนเท่ากัน มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นๆ สมควรได้รับข่าวสารและการสนับสนุนจากภาครัฐเช่นเดียวกัน ชาวนาในประเทศนี้มีจำนวนมากที่สุดในสังคม แต่กลับเป็นคนชนชั้นล่างสุด แถมไม่มีกระบวนการใดๆ เลยที่ช่วยขยายเสียงของชาวนาให้ดังและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างนั้น พวกเขาจึงต้องรวมตัวกันให้มีจำนวนคนเยอะๆ เพื่อต่อรองกับรัฐบาล” อุบลกล่าว
หลังจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนรวมตัวกันกดดันรัฐบาลมาหลายปี ในที่สุด รัฐบาลก็ยอมเริ่มต้นจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนผู้ถือครองที่ดินเหล่านั้น องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ระบุว่ามีเกษตรกรกว่า 17,000 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
แม่หนูเพ็ง ชาวบ้านวัย 60 ปี หนึ่งในผู้สูญเสียที่ดินทำกิน เล่าว่า ตนสูญเสียทุกอย่าง ตั้งแต่ที่ดินทำกินไปจนถึงเพื่อนฝูง “บ้านป้าไม่เป็นไรเพราะอยู่บนเขา แต่ป้าถูกไล่ที่ เสียนาไป 15 ไร่ นาของป้าไม่มีโฉนดก็เลยได้รับเงินเวนคืนแค่นิดเดียว ซึ่งมันก็ไม่พอให้ตั้งตัว ขนาดคนที่เขามีโฉนดยังได้แค่ไร่ละ 32,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าราคาประเมินขายที่ดินจริงๆ ด้วยซ้ำ คนในครอบครัวเดียวกันก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีโฉนดที่ดินกัน ถือเป็นหายนะครั้งใหญ่” แม่หนูเพ็งเล่าพร้อมถอนหายใจ
อภิรัตน์ เล่าว่าเขาเห็นคนในหมู่บ้านแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ส่วนอีกกลุ่มต่อต้าน แต่ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ต่างก็ขมขื่นกับการต่อสู้เพื่อค่าชดเชยเยียวยา
“ชาวบ้านแต่ละกลุ่มไม่มารวมตัวกันทำกิจกรรมตามงานเทศกาลต่างๆ แบบเดิมอีกแล้ว ไม่มีแข่งเรือ ไม่ไปงานแต่ง งานวันเกิด หรืองานศพของฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งภาพการรวมตัวทำขวัญข้าว บูชาแม่โพสพ ก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ผมไม่คิดไม่ฝันมาก่อนเลยนะว่าภาพของคนจาก 3 อำเภอที่มาเจอกันทุกวันมันจะหายไป กลุ่มวัยรุ่นยกพวกตีกันบนถนน ในขณะที่ผู้นำการเคลื่อนไหวห่างหายไปจากครอบครัวเป็นเวลานานแสนนาน และหมดเงินไปกับการเดินทางไปประท้วง” อภิรัตน์กล่าว
เมื่อถามว่าให้อภัยคนที่อนุมัติการสร้างเขื่อนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่ อภิรัตน์ถอนหายใจพร้อมตอบว่า “บังเอิญว่าคนพวกนั้นส่วนใหญ่ตายแล้ว คงเป็นผลกรรมกระมัง พวกเขาได้ชดใช้กรรมที่ทรยศต่อชุมชนแล้ว กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง”
“เขื่อนทำลายคน สัตว์ ต้นไม้ และอะไรอีกหลายอย่าง ถ้ามองจากมุมของพระพุทธศาสนา การสร้างเขื่อนก็เหมือนเป็นบาป เพราะไม่เคารพวัฏจักรของธรรมชาติ และเข่นฆ่าทำลายชีวิต เราต้องการให้เขื่อนหายไป แล้วเราชีวิตของเราคืนมา” อภิรัตน์กล่าว
ปัญญา คำลาภ นายกสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน บอกว่า คงเป็นไปได้ยากที่จะทุบเขื่อนทิ้ง เพราะต้องรัฐทุ่มเงินหลายพันล้านในการบำรุงรักษาเขื่อนต่างๆ เหล่านี้ “ทุบทิ้งคงยาก แต่ถ้าเปิดประตูระบายน้ำให้มีน้ำหมุนเวียนตลอดปีน่าจะเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบๆ เขื่อนได้ เพราะสุดท้ายแล้วการเปลี่ยนพื้นที่โดยรอบให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมันก็ไม่ได้ผลตามที่หวัง” ปัญญากล่าว
นอกจากจะเชี่ยวชาญด้านการทำประมงน้ำจืดแล้ว ปัญญา ยังเป็นหนึ่งในนักวิจัยผู้ร่วมทีมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องการสูญเสียรายได้ของประชากรเนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย ซึ่งเป็นงานวิจัยกรณีศึกษาชิ้นแรกของกลุ่มอาเซียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการสลายตัวของสังคมชนพื้นเมือง “ปีแรกที่ปิดประตูระบายน้ำ ทุกอย่างก็จมอยู่ใต้น้ำหมด ทำให้ชาวบ้านกลัว และนับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตอย่างกังวลใจมาตลอด รัฐบาลตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการและมอบมันให้กับชาวบ้าน แต่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองพรากอะไรไปจากคนในพื้นที่บ้าง เพราะฉะนั้น การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ชาวบ้านที่สูญเสียวิถีชีวิตที่เคยมีมา จะช่วยให้พวกเขารู้สึกช็อกน้อยลง อย่างน้อยๆ ก็มีกำลังใจดีขึ้น” ปัญญากล่าว
หลังจากคนในพื้นที่หลายกลุ่มรวมตัวกดดันมานับ 10 ปี กรมชลประทานก็ยอมจ่ายค่าชดเชยเพิ่มเติม พร้อมจัดสรรงบทำโครงการเกษตรผสมผสาน เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ยังครอบครองที่ดินบนภูเขาสามารถปลูกพืชหมุนเวียน พร้อมให้วิศวกรเข้าไปช่วยเหลือดูแล ซึ่งผู้อำนวยการสำนักชลประทาน อ.ราษีไศล กล่าวว่า ตนเข้าใจความรู้สึกสิ้นหวังของเกษตรกรเป็นอย่างดี
“ในมุมมองด้านกฎหมาย พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมดเป็นของรัฐ ดังนั้นคนที่เข้าไปอาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวจะถือว่าทำผิดกฎหมาย แต่ในมุมมองด้านสังคม เราเข้าใจว่านี่คือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และเราจะดำเนินการชดเชยให้อย่างต่อเนื่อง เรารู้ว่าประชาชนต้องการอยู่ทำกินตรงนั้นต่อ เราเลยจะเข้าไปช่วยเหลือให้ผลิตผลทางการเกษตรของพวกเขามีคุณภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น หากทุกคนทำการเกษตรตามรูปแบบนี้ ก็จะไม่มีปัญหาเพิ่มเติมอีก คนในพื้นที่ก็จะเลิกประท้วง ซึ่งนั่นเป็นภาพที่ผมฝันไว้” เขากล่าว
นอกเหนือจากโครงการขนาดเล็กซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการเมืองเหล่านี้แล้ว ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน อ.ราษีไศล ยังเชื่อมั่นว่าการควบคุมธรรมชาติผ่านสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อย่างเช่นเขื่อน ถือเป็นอนาคตของภูมิภาคนี้
“เขื่อนคือสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนพื้นที่ชลประทานนั้นก็จำเป็น แต่ละพื้นที่ในภูมิภาคไม่ได้มีฝนตกลงมาเท่ากัน การพึ่งพาตามน้ำตามธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอ เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่เรามี เพื่อจัดสรรน้ำและไฟฟ้าให้คนใช้ และสิ่งที่เรามีก็คือแม่น้ำโขง” เขากล่าว
ประชาชนกว่า 60 ล้านคนจาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งพาทรัพยากรต่างๆ ในแม่น้ำโขงเพื่อดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมจะออกมาเตือนว่าการสร้างเขื่อนหลายแห่งตลอดแนวแม่น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขาจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน แต่รัฐบาลยังคงเดินทางสานโครงการนี้ต่อ ด้วยการประกาศแผนเปลี่ยนทางเดินน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ไทย โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำเลย และส่งน้ำต่อผ่านท่อให้ไหลไปที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวนมากกระจายตัวตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายกระจายน้ำสู่พื้นที่แห้งแล้งในภาคอีสาน ซึ่งผู้อำนวยการสำนักชลประทาน อ.ราษีไศล เชื่อว่าเป็นแผนที่ดีที่สุดในตอนนี้ “แม้ว่าโครงการระยะยาว 20 ปีนี้จะใช้เม็ดเงินจำนวนมาก แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมีมูลค่ามหาศาลยิ่งกว่า เพราะคนในพื้นที่จะสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เขื่อนต่างๆ ยังช่วยแก้ปัญหาการจัดการน้ำได้อีกด้วย” เขากล่าว
เหตุน้ำท่วมในฤดูฝนแต่ละปีรุนแรงขึ้นเพราะมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำในเขื่อนเอ่อล้นเข้าท่วมหลายพื้นที่ในภาคอีสานของไทย ซึ่งกัมพูชา เวียดนาม และลาว ก็เจอปัญหาเดียวกัน โดยในปี 2563ประชาชนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ถูกอุทกภัยคร่าชีวิต หลายร้อยคนลอยหายไปกับกระแสน้ำ และบ้านเรือนกว่าแสนหลังถูกน้ำพัดหายไปในพริบตา
อภิรัตน์ ผู้เผชิญหน้าคำสัญญาว่าอนาคตอันสดใสมาพร้อมกับอุโมงค์ส่งน้ำยาว 140 กิโลเมตรมานับครั้งไม่ถ้วน ฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวและรอบคอบว่า “ผมเป็นแค่ชาวบ้านคนหนึ่ง แต่ผมรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนรุ่นผมบ้าง เพราะหนังสือแบบเรียนเขียนไว้ว่าเขื่อนคือสิ่งที่ดี ทุกครั้งที่มีโอกาส หรือตอนที่ไปพูดให้ความรู้ในฐานะกระบอกเสียงของหมู่บ้าน ผมจะบอกเด็กๆ เสมอว่าไม่ควรเชื่อทุกสิ่งที่รัฐบาลบอก ถ้าเราไม่สู้เพื่อชุมชนของเรา แล้วใครจะมาสู้เพื่อเรา” อภิรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
รายงานข่าวฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’ Earth Journalism Network