นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (66 – 70) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (60 – 65) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 65
ทั้งนี้ สศช. ได้ยกร่างแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดจัดประชุมระดมความเห็นต่อร่างแผนฯ 13 ในระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มทั่วประเทศ และเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง ทั้งกลุ่มภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ อดีตผู้บริหาร สศช. ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับภาพรวม ได้แก่ เป้าหมาย กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ และแนวทางหลักในร่างแผนฯ และระดับหมุดหมาย ได้แก่ เป้าหมาย ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ในแต่ละหมุดหมาย ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
สำหรับการระดมความคิดเห็นในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย
ภาคกลางปริมณฑล จัดที่จังหวัดนครปฐม
ภาคกลางตอนบน จัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคกลางตอนล่าง 1 จัดที่จังหวัดกาญจนบุรี
ภาคกลางตอนล่าง 2 จัดที่จังหวัดเพชรบุรี
ภาคเหนือตอนบน 1 จัดที่จังหวัดลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่
ภาคเหนือตอนบน 2 จัดที่จังหวัดพะเยา เชียงราย และน่าน
ภาคเหนือตอนล่าง 1 จัดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก
ภาคเหนือตอนล่าง 2 จัดที่จังหวัดนครสวรรค์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 จัดที่จังหวัดบุรีรัมย์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จัดที่จังหวัดศรีสะเกษ
ภาคตะวันออก 1 จัดที่จังหวัดชลบุรี
ภาคตะวันออก 2 จัดที่จังหวัดสระแก้ว
ส่วนกลุ่มจังหวัดที่จัดประชุมออนไลน์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ภาคใต้ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน แพร่ และตาก
นอกจากนี้ สศช. ยังได้จัดให้มีช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 64 ได้ทาง เว็บไซต์ สศช. www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Email: [email protected] และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102
ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 65 ต่อไป