เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หากพูดถึง “เขาพระวิหาร” หลายคนย่อมรู้จักกันดี แต่หากพูดชื่อ “ผามออีแดง” หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูนัก ทั้งที่ผามออีแดงนั้นอยู่ไม่ไกลจาก
“ผามออีแดง” เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และยังเป็นสถานที่หลายคนมักมองข้ามในทิวทัศน์ความสวยงามและความสำคัญของประวัติศาสตร์ที่มีภาพหินแกะสลักอายุนับพันปีซ่อนอยู่
ที่ผามออีแดงนี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่ามีครูผู้หญิงคนหนึ่งชื่อแดง นั่งรถอยู่ด้านหน้าคู่กับคนขับ จนมาถึงบริเวณหน้าผา รถเกิดเสียหลัก ครูแดงตกใจเลยกระโดดลงรถ แต่ปรากฏว่าโดนรถทับ ครูแดงไม่ได้เสียชีวิตทันที ต้องเจ็บปวดทนพิษบาดแผลอยู่นาน เมื่อครูแดงเสียชีวิตไปก็มีคนพบครูแดงมาหลอกหลอน บริเวณนี้ก็เลยมีชื่อเรียกว่า “ผามออีแดง” ตั้งแต่นั้นมา
โดยผามออีแดงจะอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไปประมาณ 200 เมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีแนวผาหักชันลงสู่เบื้องล่าง กั้นเขตแดนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ตลอดแนวผามออีแดงมีระยะทางประมาร 300 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินราบที่ลาดชันไม่มากนัก และยังเป็นจุดชมทิวทัศน์อันกว้างไกลสุดสายตา สามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารที่ห่างออกไปประมาณ 1 กม. ได้
และเบื้องล่างยังมองเห็นทิวเขาและผืนป่าที่กว้างไกลในเขตประเทศกัมพูชาที่อยู่ต่ำลงไปหรือที่เรียกว่าเขมรต่ำ ถึงแม้จะมีรั้วและแนวหินกั้นขอบหน้าผา แต่นักท่องเที่ยวก็ต้องระมัดระวังให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจจะได้ลื่นไถลไปเที่ยวเขมรโดยไม่ตั้งใจก็ได้
ทางทิศใต้ของผามออีแดง ทหารไทยที่มาประจำการที่บริเวณนี้ได้ค้นพบ “ภาพแกะสลักนูนต่ำ” บนผนังหินทรายอยู่ใต้หน้าผา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทิศแห่งความก้าวหน้า ในช่วงที่ตะวันขึ้นและตะวันตก แสงของพระอาทิตย์จะส่องสะท้อนที่ภาพให้ความสวยงามอย่างมาก
โดยเป็นภาพของเทพที่คล้ายนางอัปสรา 3 องค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร หรืออาจจะเป็นพิธีกรรมการเซ่นไหว้ของช่าง และยังมีภาพสลักลายเส้นเป็นรูปของพระนารายณ์อวตารปางวราหาวตารอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าภาพแกะสลักนี้จะอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 (ประมาณ 1,500 ปี) ซึ่งสันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งทางที่จะเดินไปชมภาพแกะสลักนี้ จะเป็นบันไดแคบๆ ให้ไต่ลงไปชม โดยจะต้องค่อยๆ เดินเรียง 1-2 คนลงไป และระหว่างทางที่ลงไปจะเห็นมีคนเอาไม้ขนาดต่างๆ ไปค้ำยันตรงช่องหินของหน้าผา เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตยั่งยืน แต่บางคนก็ว่าเอาไม้ค้ำหินไว้เพราะกลัวหินจะหล่น
เดินไปสุดทางบันไดจะมีประตูเหล็กมากั้นคั่นระหว่างเรากับภาพแกะสลักไว้ เพื่อป้องกันผู้คนจะเข้าไปสัมผัสเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพแกะสลักถูกทำลายและเสื่อมสภาพเร็ว เนื่องจากมีความเชื่อจากทางเขมรว่าถ้าผู้หญิงคนไหนได้จับหน้าอกของภาพแกะสลักแล้วก็จะทำให้หน้าอกของหญิงนั้นใหญ่ขึ้นได้ จึงต้องมีประตูเหล็กกั้นด้วยเหตุนี้
บริเวณรอบผามออีแดง มีศาลา ม้านั่ง และมุมสวยๆ สำหรับถ่ายภาพอยู่หลายจุด มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนที่มาเที่ยวชมผามออีแดงและปราสาทเขาพระวิหาร
และใกล้กันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ “เสาธงชาติไทย” ที่มีประวัติน่าสนใจคือ เมื่อครั้งเกิดข้อพิพาทไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารแก่กัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 จอมพลประภาส จารุเสถียร รมว.มหาดไทยในสมัยนั้น ได้อัญเชิญเสาธงชาติไทยต้นนี้ ซึ่งเคยตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาพระวิหารบริเวณผาเป้ยตาดี มาตั้งไว้โดยไม่มีการลดธงลงจากยอดเสาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2505
นอกจากผามออีแดงแล้ว ที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ ปราสาทโดนตวล น้ำตกตาดไฮ ช่องอานม้า สระตราว สถูปคู่ และน้ำตกถ้ำขุนศรี รวมถึงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติกล้วยไม้ ระยะทางประมาณ 1.5 กม. ที่มีกล้วยไม้หลากหลายชนิด เช่นเอื้องระฟ้า หรือกล้วยไม้เขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรมากมายเหมาะแก่การศึกษาหาความรู้
อีกหนึ่งไฮไลต์ก็คือ ที่นี่มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนเที่ยวชมธรรมชาติ กางเต็นท์พักผ่อน หรือนอนชมฝนดาวตกที่บริเวณหลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารก็ได้เช่นกัน
ซึ่งในขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารกำลังอยู่ในช่วงของการปิดการท่องเที่ยวอยู่ และจะเปิดให้ไปเที่ยวชมได้อีกครั้งในวันที่ 1 มิถุยายน 2564 หากใครอยากไปสัมผัสธรรมชาติอันสวยงามเตรียมตัวไว้ได้เลย
ภาพจากอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร- Khao Phra Wihan National Park และสำนักอุทยานแห่งชาติ
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline