นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะ ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหากรณีโรงงานแปรรูปและรับซื้อยางพารา ของสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
พุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.49 น.
ที่สหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ร่วมกับ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะ ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหากรณีโรงงานแปรรูปและรับซื้อยางพารา ของสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมี นายวัลลภ โศภิษฐพันธ์ ผอ.กยท.จ.ศรีสะเกษ นายคำฟอง ลุนศรี ประธานสหกรณ์ฯ พร้อมด้วย นายจรัสแสง บันใดทอง ผู้จัดการสหกรณ์ฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ เบื้องต้นได้มีการสั่งหยุดการดำเนินการเกี่ยวกับส่วนของโรงงานแปรรูปยางพาราของสหกรณ์ฯ เป็นการชั่วคราวก่อน รวมถึงการรับซื้อยางพาราและการผลิต เพื่อปรับปรุงระบบโรงงานให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
นายอนุรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ระบบน้ำ ระบบระบายอากาศ และการบริหารจัดการก้อนยางที่รับซื้อมารอการผลิต ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น ในส่วนนี้จะต้องมีการปรับปรุงระบบใหม่ โดยทางการยางแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนเงินทุนของกองทุนการยางเข้ามาสมทบกับทางสหกรณ์ฯ ในเบื้องต้นเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งจะต้องขออนุมัติเข้าไปที่ส่วนกลาง ในส่วนของก้อนยางพาราที่กองอยู่บริเวณหน้าโรงงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น จะต้องมีการระบายยางพาราก้อนถ้วยที่รับซื้อมาไว้แล้ว ออกจากพื้นที่ของโรงงานนี้ก่อน เนื่องจากโรงงานแห่งนี้จะต้องหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งทางการยางฯ จะสนับสนุนที่จะช่วยระบายยางออกจากพื้นที่
ในส่วนของเกษตรกร ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูกาลกรีดยางเป็นเป็นสุดท้าย คือเดือน ก.พ. ก่อนที่จะปิดหน้ายางในเดือน มี.ค. นี้ ในส่วนนี้เกษตรกรก็จะได้รับความเดือดร้อน ทางการยางแห่งประเทศไทยก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในการเยียวยา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร และมั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องระบบกลิ่นจะลดลงและอยู่ร่วมกับชุมชนได้
ด้าน นายสุขทัศน์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทราบปัญหาของทางสหกรณ์ฯ ดังกล่าวแล้ว ทางการยางแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเสนอให้สหกรณ์ฯ ทำโครงการขอเงินอุดหนุน มาตรา 49 (3) สำหรับสถาบันเกษตรกร ในการจัดการในเรื่องของบ่อบัดบัดน้ำเสีย ปล่องควัน และส่วนอื่นๆ โดยใช้กรอบวงเงินที่เป็นอำนาจของผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ไม่เกินวงเงิน 2 ล้านบาท ส่วนที่เกินนั้นทางสหกรณ์ก็จะต้องสมทบ ตนให้ความมั่นใจว่ากรณีดังกล่าวนี้จะได้รับการช่วยเหลือเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายของทางผู้ว่าการ
ส่วนยางที่กองอยู่นี้ ทางการยางแห่งประเทศไทยยินดีเป็นผู้รับจ้างนำยางดังกล่าวไปผลิตแปรรูป เพื่อทางสหกรณ์จะได้นำส่งขายตามออร์เดอร์ที่ได้รับมา ไม่ให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจ ในช่วงที่มีการปรับปรุงโรงงานชั่วคราว จนกว่าจะแล้วเสร็จ หรือประมาณปลายเดือน พ.ค. 64 ต่อจากนี้ไป เกษตรกรจะต้องทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP การรวบรวมเราก็จะสนับสนุนงบประมาณลงไปให้ได้มาตรฐาน GAP ขณะเดียวกัน โรงงานแห่งนี้ก็จะต้องพัฒนาให้ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 และ 2015 อีกด้วย.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%