เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมพิจารณาประเด็นข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนที่เสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาเป็นกรณีเร่งด่วน
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงและทำความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน (สคจ.) โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ซึ่งได้ทำหน้าที่อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อเรียกร้องจาก สคจ. ว่า การแก้ไขปัญหายังมีความล่าช้า ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกชอง สคจ. ต้องเผชิญความยากจนอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำรงชีวิตที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 สภาพปัญหายิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การประชุมในวันนี้จึงเป็นการติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน
รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาและเร่งแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย การเสนอบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน เพื่อกำหนดแนวทางในการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของสมัชชาคนจน จำนวน 15 กรณีปัญหา เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงปัญหาตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช การประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง จังหวัดบึงกาฬ ข้อเสนอโครงการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายของรัฐ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และชุมชนชนบทของสมัชชาคนจน ปัญหาที่ราชพัสดุหนองน้ำขุ่น จังหวัดขอนแก่น และปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้จะได้เร่งประสานงาน หารือความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ครอบคลุมรอบด้าน ตอบสนองต่อปัญหาอย่างแท้จริง และสร้างความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
“ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสุนนการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดจากผลกระทบนโยบายภาครัฐ ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พร้อมให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟู สร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด