สยามรัฐออนไลน์
7 กุมภาพันธ์ 2564 17:28 น.
ภูมิภาค
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.00 น ที่ “สวนแตงโมจากใจชไมมาศ” ดร กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษได้นำสื่อมวลชนไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีนวัตกรรมแตงโมรูปหัวใจเกิดอยู่ใจกลางเมืองศรีสะเกษ
ดร.กัลยาณี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษกล่าวว่าขับรถผ่านเห็นป้ายสะดุดตาก็ขอเข้าไปดูว่าทำไมชื่อสวนถึงแตกต่างจากคนอื่น ได้เห็นลูกแตงโมเป็นรูปหัวใจรู้สึกทึ่งและชื่นชมที่คนศรีสะเกษสามารถปลูกได้ไม่ต้องไปซื้อแตงโมรูปสี่เหลี่ยมจากประเทศญี่ปุ่น จึงไปถามหาเจ้าของและได้พบว่าผู้ที่มาลงทุนคือนายธัญชนนท์ ชาติเมธากุล ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ลงทุนทำสวนนวัตกรรมนี้ ยิ่งได้เห็นวิธีการดูแลก็รู้ถึงความมีมูลค่าของแตงโมรูปหัวใจที่กว่าจะได้มาแต่ละลูก นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประโยชน์มากสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะใช้พื้นที่ไม่มากมาทำการเกษตรได้
นายธัญชนนท์ ชาติเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุขภัณฑ์คริสตินา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตนสำเร็จการศึกษาจากKunming international academy ได้มาลงทุนทำสวนผลิตแตงโมเพื่อทำเป็นแปลงตัวอย่าง ตามใจคุณแม่ชไมมาศ เพราะคุณแม่มีแรงบันดาลใจต้องการที่จะสร้างพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้เป็นทางเลือกของชาวเกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษนอกจากจะมีหอม กระเทียมและทุเรียนภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกแล้ว ตอนนี้มีแตงโมรูปหัวใจเพิ่มอีก เพราะเกิดจากความชอบส่วนตัวที่เห็นแตงโมรูปหัวใจจากประเทศญี่ปุ่น ก็คิดอยากทดลองทำในประเทศไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่าของเขาบ้างคงสร้างมูลค่าเพิ่มให้แตงโมในประเทศไทยได้มาก แตงโมรูปหัวใจหนึ่งเดียวใน จ.ศรีสะเกษนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการได้รับการส่งเสริมจากนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนหนึ่งจากทีมวิชาการที่มี พันเอกณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผบ.พล.ร.6 ที่นำทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร นายวารินทร์ ทวีกันย์ และทีมงาน มาช่วยกันร่วมคิดค้นวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การสร้างแปลงทดลอง เลือกสายพันธุ์แตงโมให้เหมาะสมกับอากาศของท้องถิ่น เตรียมดินให้เหมาะกับการเติบโตของแตงโม สร้างโรงเรือนให้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ เพราะจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของลูกแตงโมและยังสามารถป้องกันแมลงต่างๆ รบกวน แตงโมที่นี่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ คือไม่ได้ใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเติบโตใดๆทั้งสิ้น ใช้วิธีปลูกในแนวตั้งโดยใช้ เชือกขึงให้เถาของแตงโมเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการ หากปลูกในแนวราบจะดูแลได้ยากกว่า
นายธัญชนนท์ ชาติเมธากุล กล่าวต่อว่า การคัดเลือกแตงโมให้มีขนาดเหมาะสมที่จะใส่ในบล็อกหัวใจที่เตรียมไว้ ต้องเลี้ยงให้แตงโมมีขนาดตามที่ต้องการก่อนแล้วครอบบล็อกเข้าไปรอให้แตงโมเติบโต ในระหว่างนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีความชื้นหรือไอของน้ำค้างอยู่ในบล็อกที่ครอบไว้เพราะอาจจะทำให้ลูกแตงโมเน่าเสียได้ ต้องประคบประหงมมากกว่าการปลูกแตงโมธรรมดาหลายเท่า แต่ก็คุ้มเพราะผลผลิตแตงโมรูปหัวใจเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมากราคาเป็นหลักพันต่อ1ลูก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลพิเศษต่างๆ การที่ตั้งใจผลิตแตงโมธรรมดาๆ มาเป็นแตงโม รูปหัวใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจมาก เพื่อได้ผลผลิตให้ทันต่อวันเทศกาล”วันแห่งความรัก”ในปีนี้ เพราะคุณแม่อยากส่งมอบความรักแทนใจให้คนไทยทั้งประเทศที่บอบช้ำกับเศรษฐกิจเพราะพิษโควิด-19 ด้วยแตงโมรูปหัวใจเพื่อให้เกิดมีพลังกาย พลังใจ หัวใจก็เหมือนลูกแตงโมภายนอกดูแข็งแรง ภายในมีเนื้อสีแดง หวานกรอบ อยากให้ทุกคนดูแลหัวใจของผู้ที่เรารัก เช่นพ่อแม่ สามี ภรรยาลูกหลาน ด้วยพลังบวก จากความรักที่แตงโมรูปหัวใจ new normal มอบให้ชาวศรีสะเกษ
พันเอกณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 กล่าวว่าตนเป็นนายทหารลูกชาวนา ได้ทุ่มเทการทำงานทั้งงานในหน้าที่ดูแลความมั่นคง และงานการช่วยเหลือประชาชน โดยที่ผ่านมาเล็งเห็นถึงปัญหาความยากจนของเกษตรกร จึงตั้งใจที่จะทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน กลุ่มนักวิชาการจิตอาสา และเครือข่ายเกษตรกร 5 จังหวัดคือ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี โครงการแรกคือ โครงการปลูกแตงโมอินทรีย์รูปหัวใจ เริ่มต้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 ได้สร้างโรงเรือนแบบปิด 2 โรง และสั่งบล๊อครูปหัวใจจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ต้องการปลูกแตงโมอินทรีย์รูปหัวใจจำนวน 200 ลูก เป้าหมายต้องการให้เก็บผลผลิตได้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เพราะจะต้องนำส่งไปเป็นของขวัญแก่คนทั้งประเทศ ที่ร้าน Amezon community mall Active Park ปั๊มนำมัน ปตท.เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ให้ทันในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2564 การทำสวนแตงโมนี้เป็นแนวทางให้เกษตรกรเครือข่ายได้มาร่วมศึกษา นำแนวทางกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้ผลสำเร็จเพื่อต่อยอดอาชีพได้ยั่งยืน แล้วขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มเครือข่ายต่อไป