เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรา มีทั้งหมด 67 มาตรา โดยในมาตรา 9 เกี่ยวกับให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียง ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย โดย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายเห็นด้วยกับร่างของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อย ว่า แม้ที่ผ่านมาฝ่ายนิติบัญญัติจะทำความเห็นไปยัง ครม.แต่อำนาจการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำก็อยู่ที่ครม. แต่หากใช้ร่างของนายชูศักดิ์ จะทำให้ครม.ต้องดำเนินการตามความเห็นที่รัฐสภาส่งไป จะทำให้ความเห็นของรัฐสภาที่ต้องการให้รัฐบาลทำประชามตินั้นรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้
ด้าน นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายเห็นแย้งกับ กมธ. ว่า ” ผมไม่เห็นด้วยที่จะมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำประชามติ เพราะแค่ให้กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็ทำให้เกิดการซื้อเสียงกันอย่างกว้างขวาง ถ้าเรายังไปมอบหมายภาระกิจสำคัญให้เขาจัดทำอีก มองไม่ออกเลยว่า กกต.จะจัดให้มีการทำประชามติที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร ผมมองว่าถ้าเราไปมอบภาระหน้าที่ให้กกต.มากจนเกินไป ผมเกรงว่าจะเละกันไปหมด ผมขอถามว่ากกต.จะทำให้การทำประชามติเสมอภาคได้อย่างไร จะเอาวิธีไหนมาทำให้เสมอภาค เพราะแค่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมท่านยังทำไม่ได้เลย ”
หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นแล้ว ทางกมธ.ยืนยันตามร่างที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุม โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไข 534 ต่อ 3 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 และเห็นชอบให้มีการแก้ไขตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ของนายชูศักดิ์ เสนอ โดยเนื้อหานั้นมีสาระ คือ กำหนด 5 เงื่อนไขในการทำประชามติ
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ขอใช้สิทธินับคะแนนใหม่ ด้วยการขานคะแนน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 58 เพราะคะแนนมีผลต่างน้อยกว่า 30 คะแนน ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านประท้วงและโต้ตอบว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณามาตรา 10 แล้ว ทำให้มีส.ว.โห่ประท้วงไม่พอใจ แต่ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลาย นายพรเพชร วินิจฉัยว่าที่ประชุมเข้าสู่มาตรา 10 แล้วไม่สามารถใช้สิทธินับคะแนนใหม่ได้
จากนั้น นายพรเพชรได้พักการประชุม 10 นาที เพื่อให้กมธ. หารือปรับแก้เนื้อหามาตรา 10 และมาตรา 11 ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ได้แก้ไข
ต่อมา ภายหลังที่พักประชุมเพื่อหารือเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกมธ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการลงมติของที่ประชุมในมาตรา 9 โดยเพิ่มเติมรายละเอียดตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ พบว่ามีผลกระทบอย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 และมาตรา 15 ซึ่งกฤษฎีกาขออนุญาตกลับไปทบทวนยกร่างตาม ไม่อาจแล้วเสร็จในวันนี้ได้ อีกทั้งต้องตรวจสอบหมวดอื่น ๆอีกด้วย ด้วยเหตุผลความจำเป็นนี้ ขออนุญาตให้ประธานพิจารณาเลื่อนการประชุมเป็นคราวหน้าได้หรือไม่
จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมแล้ว ทำให้เราไม่สามารถประชุมได้อีก จึงมีทางคือ รอพิจารณาต่อในสมัยประชุมหน้าในเดือนพ.ค. หรือจะขอเปิดให้มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องนี้