เคบียูโพล เผย ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.14 ยกมือหนุนให้กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 และ กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ที่ตราด และศรีสะเกษเดินหน้าจัดเเข่งขันต่อ โดยไม่ต้องยกเลิก หากโควิด-19 คลี่คลาย ชี้เป็นเวทีพัฒนาเเละต่อยอดความสามารถที่สำคัญของนักกีฬาเเละวงการกีฬาไทย เชื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเเละสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากปรากฎการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้การจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 และ กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ซึ่งจังหวัดตราด และจังหวัดศรีสะเกษ จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2564 ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะจัดการแข่งขันได้หรือไม่
เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับมิติทางการกีฬาโดยเฉพาะการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาทั้ง 2 รายการดังกล่าว KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ตโพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “มหกรรมกีฬาแห่งชาติจะไปต่อหรือรอก่อน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นในมิติต่างๆ”
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-10 มี.ค. 64 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่สนใจและติดตามข่าวสารทางการกีฬา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,171 คน แบ่งเป็นเพศชาย 704 คน คิดเป็นร้อยละ 60.12 เพศหญิง 467 คน คิดเป็นร้อยละ 39.88 ผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า
การจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่จังหวัดตราดและกีฬาแห่งชาติ ที่จังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2564 ควรที่จะดำเนินการอย่างไรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 38.14 เห็นว่า ควรที่จะจัดการแข่งขันต่อไป รองลงมาร้อยละ 25.09 ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน, ร้อยละ 21.95 ให้เป็นไปตามความเห็นของการกีฬาแห่งประเทศไทย, ร้อยละ 9.86 ควรที่จะเลื่อนออกไปก่อน, ร้อยละ 3.96 ควรที่จะยกเลิกและอื่นๆร้อยละ 1.00
ผลดีถ้าสามารถจัดการแข่งขันได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.83 นักกีฬามีโอกาสแสดงศักยภาพ รองลงมาร้อยละ 27.09 ยกระดับและต่อยอดการพัฒนากีฬาของประเทศ, ร้อยละ 25.11 เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้, ร้อยละ 12.46 สร้างการมีส่วนร่วมและการตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่, ร้อยละ 3.81 คุ้มค่ากับการลงทุนในมิติต่างๆ และอื่นๆร้อยละ 1.70
ผลเสียถ้าไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 30.87 นักกีฬาเสียโอกาสในการแสดงศักยภาพ รองลงมาร้อยละ 27.03 ขาดความต่อเนื่องในการต่อยอดและยกระดับการกีฬาของประเทศ, ร้อยละ 19.66 สูญเสียโอกาสการกระตุ้นเศรษฐกิจ, ร้อยละ 10.57 สิ้นเปลืองงบประมาณและสูญเสียเวลาในการเตรียมการ, ร้อยละ 9.22 เจ้าภาพเสียโอกาสในการแสดงศักยภาพ และอื่นๆร้อยละ 2.65
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวนการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตในฐานะผู้ดำเนินการ KBU SPORT POLL กล่าวว่าจากการสำรวจดังกล่าวพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมกับประเด็นการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งชาติด้วยการมีข้อเสนอแนะในมิติต่างๆที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นข้อมูลขั้นต้นให้กับผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณา อาทิ ถ้ามหกรรมกีฬาทั้ง 2 รายการสามารถดำเนินการจัดการแข่งขันได้ เสนอให้ควรจัดในห้วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ตามด้วยสร้างความมั่นใจให้กับนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องที่เข้าร่วม เจ้าภาพจะต้องกำหนดมาตรการทางสาธารณสุขตามประกาศของศบค.อย่างเคร่งครัดและเข้มข้น จัดรูปแบบการแข่งขันให้เหมาะกับสภาวการณ์ กำหนดชนิดกีฬาที่ลดความเสี่ยงในการปะทะ รณรงค์และประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดการตื่นตัวเป็นต้น
ในขณะเดียวกันถ้ามีการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไปก่อนกลุ่มตัวอย่างเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยปรับรูปแบบหรือดำเนินการจัดการแข่งขันเองโดยกระจายชนิดกีฬาๆ ไปยังสนามในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียโดยคำนึงถึงโอกาสและผลประโยชน์ในภาพรวมที่จะตามมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการที่จะให้มหกรรมกีฬาทั้ง 2 รายการดำเนินต่อไปเพียงแต่ฝ่ายจัดการแข่งขันหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหรือตัวแปรต่างๆมาประกอบการตัดสินใจ และคาดว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในระดับหนึ่ง